โรคไมเกรน

 

เมื่อพูดถึง โรคไมเกรน ก็คือคนที่มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง และโรคไมเกรนนี้เองก็เป็น 1 ใน 10 โรคยอดฮิตของคนทำงานอีกด้วย วันนี้จะพาผู้อ่านมารู้จักกับโรคไมเกรน วิธีการสังเกตุอาการรวมถึงการรักษาอีกด้วย

โรคไมเกรน คือโรคที่เกิดจากการบีบตัว และคลายตัวของหลอดเลือดแดงในสมองมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว พร้อมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ในบางรายอาจมีอาการตาพร่ามัวหรือเห็นแสงระยิบระยับร่วมด้วย

ไมเกรน (Migraine) นี้มาจากคำสองคำคือ HEMI + CRANIUM คำ HEMI แปลว่า ครึ่งว่า ครึ่งซีก ส่วน CRANIUM แปลว่า ศีรษะหรือหัว เมื่อคำสองคำมาผสมกันเป็น HEMICRANIUM แต่ยาวเกินไป จึงตัด “HE” ส่วนหน้าออก และ “IUM” ส่วนหลังทิ้ง จึงเหลือ “MICRAN” ในภาษาลาติน ภาษาอังกฤษมาแปลงใหม่เป็น MIGRANE

โรคไมเกรน (MIGRAINE) ความจริงไม่น่าจะจัดว่าเป็นโรคแต่อย่างใด เพราะเป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงในสมองบีบตัวและคลายตัวมากกว่าปกติ ในคนปกติหลอดเลือดแดงเหล่านี้มีอยู่มากมายในสมองจะมีการบีบตัวและคลายตัวอยู่เป็นประจำ แต่ไม่มากจึงไม่ปวดหัว ในผู้ปวดไมเกรนจะไม่พบพยาธิใดๆ ในหลอดเลือดแดงของสมองจึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดอัมพาตหรือพิการแต่อย่างใด

อาการของโรคไมเกรนมีดังนี้

  1. ปวดศีรษะครึ่งซีก อาจเป็นบริเวณขมับหรือท้ายทอย แต่บางครั้งก็อาจเป็นสองข้างพร้อมกันหรือเป็นสลับข้างกันได้
  2. ลักษณะการปวดศีรษะส่วนมากจะปวดตุ้บๆ นานๆครั้งหรือเกิน20นาที (ยกเว้นจะได้รับประทานยา) แต่บางครั้งถ้าเป็นรุนแรง อาจปวดนานเป็นวันๆหรือสัปดาห์ก็ได้ผู้ป่วยบางรายอาจมีปวดตื้อๆสลับกับปวดตุ้บ ๆ ในสมองก็ได้
  3. อาการปวดศีรษะมักรุนแรง และส่วนมากจะมีการคลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วยเสมอ โดยอาจเป็นขณะปวดศีรษะ ก่อนหรือหลังปวดศีรษะก็ได้ บางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากจนรับประทานอะไรไม่ได้
  4. อาการนำจะเป็นอาการทางสายตา โดยจะมีอาการนำมาก่อนปวดศีรษะราว 10-20 นาที เช่น เห็นแสงเป็นเส้นๆ ระยิบระยับ แสงจ้าสะท้อน หรือเห็นภาพบิดเบี้ยวนำมาก่อน

สิ่งที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดไมเกรน

  1. ภาวะเครียด
  2. การอดนอน
  3. การขาดการพักผ่อน หรือทำงานมากเกินไป
  4. ขณะมีระดู หรือรับประทานยาคุมกำเนิด
  5. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์
  6. อาหารบางชนิดเช่น กล้วยหอม เนยแข็ง และช็อกโกแลต

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเกิดอาการ โรคไมเกรน

  1. สังเกตและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ
  2. นอนพักผ่อนให้เพียงพอและตรงตามเวลาทุกวัน
  3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมจนเกินไป
  4. งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ
  5. งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ, ชา, น้ำอัดลม, เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น
  6. ในผู้ที่มีความจำเป็นต้องรับประทานยาคุมกำเนิดต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  7. ถ้าอาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้นหรือมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป ควรปรึกษาแพทย์ทันที

วิธีรักษาโรคไมเกรน

ปวดศีรษะไมเกรนเป็นโรคเรื้อรัง สามารถควบคุมได้ด้วยการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง และการใช้ยาอย่างเหมาะสม เมื่ออายุมากขึ้นมักจะมีอาการปวดศีรษะลดลง การรักษาปวดศีรษะไมเกรน แบ่งได้ 2 ประเภท

1. ระยะที่มีอาการปวดศีรษะเฉียบพลัน ใช้เฉพาะเวลามีอาการปวดศีรษะเท่านั้นและให้รับประทานยาหลังจากที่เริ่มมีอาการปวดศีรษะทันทีจะได้ผลการรักษาอาการปวดศีรษะที่ดี

  • ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล, ยาลดการอักเสบที่ไม่ไช่สเตียรอยด์ เป็นต้น
  • ยาที่เฉพาะเจาะจงกับไมเกรน เช่น ยากลุ่มทริปแทน (triptan) หรือ ยาที่มีส่วนผสมของเออโกทามีน (ergotamine) ซึ่งออกฤทธิ์ที่เส้นเลือดสมองโดยตรง
  • ยาสำหรับลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน

2. ระยะที่ไม่ปวดศีรษะ (ยาป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน) ต้องรับประทานติดต่อกันทุกวัน

  • กลุ่มยากันชัก เช่น Topiramate, Valproic acid เป็นต้น
  • กลุ่มยาปิดกั้นตัวรับแคลเซียม เช่น Flunarizine, Cinnarizine, Verapamil เป็นต้น
  • กลุ่มยาปิดกั้นตัวรับเบต้า เช่น Propranolol, Atenolol, Metoprolol เป็นต้น

กลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้า เช่น Amitriptyline, Nortriptyline, Duloxetine, Venlafaxine เป็นต้น

*กรณีมีอาการปวดศีรษะไมเกรนในช่วงมีประจำเดือน สามารถรับประทานยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือยากลุ่มทริปแทนช่วงก่อนมีประจำเดือนประมาณ 2 – 3 วัน และรับประทานยาต่อจนหมดประจำเดือน 4 – 5 วัน

สามารถรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : คลิกที่นี่

อ้างอิง : คลิกที่นี่

เป็นกำลังใจช่วยแชร์หน่อยค่ะ



ball